คำเตือน!! สงวนลิขสิทธิ์
รูปภาพและบทความโดย.. โทมี่ ฟาร์ม (Tomy Farm)
©
ดูรายละเอียดที่
www.tomyfarm.com
ห้ามคัดลอกไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอณุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร
หากต้องการให้ผู้อื่นอ่านหรือชม สามารถทำการเชื่อมโยงลิงค์มาที่หน้าเว็บเพจนี้ได้
ตามที่อยู่ URL ด้านบน เท่านั้น
ดูรายละเอียดที่
www.tomyfarm.com
* เครย์ฟิชคืออะไร
"เครย์ฟิช" หรือ "กุ้งเครย์ฟิช" ?
ก่อนอื่นก็ต้องมาทำความรู้จักกับ "เครย์ฟิช" กันก่อนครับ อย่าบอกว่าเป็นแนววิทยาศาสตร์จนเกินไปก็แล้วกันนะครับ เอาเป็นว่าพอหอมปากหอมคอก็แล้วกัน จะได้รู้ที่มาที่ไป รู้จักนิสัยใจคอ เผื่อจะได้มาเป็นสัตว์เลี้ยงแสนรักกันนะครับ เรามาคุยกันแบบวิทยาศาสตร์เล็กน้อย ผสมกับความรู้แบบบ้านๆ กัน จะดีกว่าครับ
เครย์ฟิช (Crayfish) เป็นสัตว์น้ำชนิดหนึ่งซึ่งถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่มี่ชื่อว่า ครัสเตเซียน (Crustaceans) โดยเป็นสัตว์จำพวกเดียวกันกับไฟลั่ม อาโทรพอด (Phylum Arthropoda) ชื่ออาจจะดูเรียกยากไปหน่อย แต่ก็ถือว่าอ่านเอาความรู้ก็แล้วกันครับ ซึ่งในกลุ่มของไฟลั่ม อาโทรพอดนี้ มีญาติพี่น้องอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งเป็นสัตว์อย่างพวก แมลง (Insecta), แมงมุม (Arachnida), ตะขาบและกิ้งกือ (Myriapoda) ซึ่งสัตว์ในเครือของไฟลั่ม อาโทรพอด จะมีเปลือกที่แข็งแรงครับ โดยสร้างจากแคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium carbonate) เพื่อปกคลุมลำตัว ป้องกันอันตราย คุ้มครองร่างกายเนื้อในที่บอบบาง โดยเกราะนี้เรียกว่า คิวทิเคิล (Cuticle) แปลว่า หนังกำพร้า ผิวนอก เปลือกนอก หรือถ้าภาษาชาวบ้านก็ "เปลือกกุ้ง" นี่แหละครับ บางทีที่เราๆ ท่านๆ ทานกุ้งนิ่ม ปูนิ่ม นั่นก็คือกุ้งหรือปูที่เพิ่งลอกคราบ แล้วคราบใหม่ยังไม่ได้สร้างให้แข็งแรงปกคลุมลำตัว ถึงได้มีลำตัวที่อ่อนนิ่มเช่นนั้นเองครับ
ร่างกายของกุ้งเครย์ฟิชนั้น จริงๆ แล้วสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ 1.ส่วนหัว 2.ส่วนกลาง (หรือ Thorax) คือส่วนที่มีขาสำหรับเดิน และ 3.ส่วนท้อง คือส่วนที่มีเนื้อสำหรับรับประทาน แต่เนื่องจากส่วนหัวและส่วนกลางจะประสานกันอยู่ เรียกว่า เซฟฟะโลธอแรคซ (Cephalothorax) บางคนจึงอาจบอกว่าเครย์ฟิชนั้นมีแค่สองส่วน คือถ้ามองแบบคนเลี้ยงหรือคนดูทั่วไป ก็จะบอกว่ามีหัวกับตัวน่ะครับ
อย่างที่ได้บอกไปข้างต้นนะครับว่า สัตว์ในกลุ่มครัสเตเซี่ยน - ไฟลั่ม อาโทรพอด ซึ่งรวมทั้งเจ้ากุ้งเครย์ฟิช (Crayfish) จะมีเปลือก (Carapace) ที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนเกราะคลุมลำตัว ส่วนหัวและส่วนกลาง ชุดเกราะนี้ มีสองหน้าที่หลักคือ
1. ปกป้องอวัยวะภายในที่บอบบางอย่างเช่น เหงือกหายใจ ที่มีลักษณะคล้ายกลุ่มขนนกอยู่บริเวณปาก
2. ทำหน้าที่สำคัญในระบบหายใจ คือเป็นทางผ่านของน้ำเพื่อให้น้ำไหลผ่านช่องเหงือกนั่นเอง
ส่วนขาอันมากมายหลายคู่ของกุ้งเครย์ฟิชนั้น ได้ถูกแบ่งออกเป็นสองหน้าที่คือขาเดิน (Walking legs หรือ Paraeopods) และขาว่ายน้ำ (Swimmerets หรือ Pleopods)
1.ขาเดิน
มี 5 คู่ โดยขาเดินคู่แรกสุดจะพัฒนาเป็นก้าม (Claw หรือ Cheliped) ที่แข็งแรงใหญ่โต
2.ขาว่ายน้ำ
มีลักษณะเป็นแผ่นแบนๆ มีไว้สำหรับโบกสะบัดพัดพาออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายเพื่อหายใจ รวมทั้งโบกพัดสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในน้ำ เช่น แพลงค์ตอน และจุลชีพน้อยๆ เข้าหาลำตัวเพื่อเป็นอาหาร สำหรับกุ้งตัวเมียยังใช้ขาว่ายน้ำเป็นที่อุ้มไข่อีกด้วย
สำหรับกุ้งเครย์ฟิชตัวผู้นั้น จะมีขาน้อยๆ อีก 1 คู่ เพิ่มมา เป็นอวัยวะสืบพันธุ์ด้วยครับ ซึ่งสามารถอ่านได้ในบทความเรื่อง การดูเพศกุ้งเครย์ฟิชครับ
|||
ดูรูปภาพ คลิกที่นี่ |||
* ที่อยู่ของกุ้งเครย์ฟิช
บ้านของกุ้งเครย์ฟิช
** ถิ่นกำเนิด
"กุ้งเครย์ฟิช" หรือที่รู้จักกันในนามของ "กุ้งล็อบสเตอร์น้ำจืด" มีถิ่นกำเนิดที่หลากหลายครับ ทั้งในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป เอเซียตะวันออก และออสเตรเลีย ในปัจจุบันมีการบรรยายอนุกรมวิธานของกุ้งเครย์ฟิชเป็นร้อย เป็นพันชนิด โดยมากกว่าร้อยละห้าสิบเป็นกุ้งเครย์ฟิชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือครับ
สำหรับที่นิยมเลี้ยงกันในประเทศไทย ณ ปัจจุบันนี้ เราสามารถแบ่งกุ้งเครย์ฟิชออกตามถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติ ได้คร่าวๆ ดังนี้ครับ
1. กลุ่ม Procambarus(เรียก "สาย P") มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกา และยุโรป
2. กลุ่ม Cherax(เรียก "สาย C") มีถิ่นกำเนิดในโซน ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และปาปัวนิวกินี ซึ่งถือเป็นแหน่งกำเนิดชีวิตสัตว์ที่มากมายหลากหลายอย่างมากเลยครับ
แต่การเลี้ยงดูกุ้งเครย์ฟิช ทั้งสองกลุ่มนี้ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน จึงจะขอกล่าวในภาพรวม ดังนี้
* ถิ่นที่อยู่อาศัยในธรรมชาติ
ในธรรมชาติกุ้งเครย์ฟิชจะอาศัยอยู่ตามโขดหิน ตอไม้ ขอนไม้ ต่างๆ ตามลำธาร หนองน้ำ หรือแม้กระทั่งทะเลสาป อันนี้ก็แล้วแต่นะครับ ว่าน้ำจะจืด จะกร่อย จะเค็ม แต่ที่เราเลี้ยงๆ กันและขายอยู่ทั่วไปนี้ อาศัยอยู่ในน้ำจืดครับ ถึงได้เรียกว่าเป็น "ล็อบส์เตอร์น้ำจืด" นั่นไงครับ โดยกุ้งเครย์ฟิชนั้นมักจะชอบขุดคุ้ยหาอะไรกินไปเรื่อยเปื่อย ขุดๆ มุดๆ ตามดินตามโพรง ตามประสากุ้งสวยงามจอมซนน่ะครับ
* ตู้เลี้ยง
ในกรณีที่ต้องการเลี้ยงกุ้งเครย์ฟิชรวมกันหลายๆ ตัว ควรจะเลี้ยงในตู้หรือภาชนะที่มีขนาดค่อนข้างกว้างสักหน่อยจะเป็นการดีครับ แต่ไม่จำเป็นต้องสูงนัก เพราะกุ้งเครย์ฟิชไม่สามารถว่ายน้ำขึ้มาได้ เขาเพียงแค่ต้องการพื้นที่เดิน เหมือนคนเรา ไม่ใช่เหมือนปลาครับ อย่างเช่น หากต้องการเลี้ยงกุ้งเครย์ฟิชประมาณ 2 ตัว ให้เป็นแฟนหรือเป็นเพื่อนกัน ในตู้ปลา ขนาดของตู้ปลาก็ควรจะมีขนาดตั้งแต่ 24 x 12 นิ้วขึ้นไป เนื่องจากกุ้งเครย์ฟิชนั้นมีนิสัยหวงถิ่นและค่อนข้างก้าวร้าวพอสมควร จึงต้องการตู้เลี้ยงที่ค่อนข้างกว้างขวางเพื่อสร้างอาณาเขตของตน บางคนบอกว่าลูกกุ้งตัวนิวเดียว ทำไมใช้ตู้ใหญ่จัง ที่ผมบอกไป ก็เผื่อจะได้ไม่ต้องเปลี่ยนตู้แล้วไงครับ ก็เลี้ยงจนโตไปเลย ไม่ต้องมานั่งเปลี่ยนตู้ใหม่ จัดบ้านใหม่อีก กุ้งเครย์ฟิชโตไวครับ ถ้าเลี้ยงดี อาหารสมบูรณ์ สภาพแวดล้อมเหมาะสม ซื้อมา 1 นิ้ว เลี้ยงไปเลี้ยงมาอีก 3 เดือน ก็ 3 นิ้ว 4 นิ้วได้แล้วครับ (แล้วแต่การเลี้ยงของแต่ละคนนะครับ ไม่แน่นอนเสมอไป) แต่หากเลี้ยงเพียงประมาณ 1-3 ตัว ตู้ขนาด 24 นิ้วก็ยังถือว่าใช้ได้ แต่ถ้าให้เป็นการดี ควรเลี้ยงทั้งหมดให้อยู่ด้วยกันตั้งแต่เล็กๆ โดยที่ทั้งหมดมีขนาดเท่าๆ กัน และมีพื้นที่หลบซ่อน หรือมุมของใครของมันจะได้ไม่มีสงครามกุ้งนะครับ
แต่ถ้าหากว่าเลี้ยงกุ้งเครย์ฟิชรวมกันหลายตัวจนเกินไป หรือไม่จัดสรรพื้นที่ให้เหมาะสม จะพบว่ากุ้งเครย์ฟิชขนาดเล็กๆ มักจะถูกรังแกและมีโอกาสที่จะถูกกุ้งเครย์ฟิชที่มีขนาดใหญ่กว่ากินเป็นอาหาร ได้ หรือถึงแม้ว่าจะมีขนาดที่ไม่ต่างกันก็เถอะครับ แต่เมื่อวาระการลอกคราบมาถึง นั่นคือสิ่งที่อันตรายที่สุด สำหรับกุ้งตัวที่ลอกคราบ ด้วยเหตุผลนานาประการ เช่น อาจลอกคราบไม่ผ่าน หรือโดนทำร้ายหลังจากดีดออกจากคราบเก่าครับ
การเลี้ยงในตู้เลี้ยงขนาดใหญ่จะช่วยลดโอกาสที่กุ้งแต่ละตัวจะต่อสู้กันได้ นอกจากนี้ผู้เลี้ยงควรจะใส่ขอนไม้ ดินเผา กะลามะพร้าว หรือวัสดุอื่นๆ ที่มีลักษณะเป็นโพรง หรืออาจเป็นท่อพีวีซีตัดเป็นท่อน เพื่อให้กุ้งเครย์ฟิชได้หลบอาศัยหรือสร้างห้องของตัวเอง ซึ่งโดยปกติแล้วช่วงกลางวันกุ้งเครย์ฟิชจะหลบซ่อนตัวอยู่อย่างเงียบๆ และจะออกมาจากที่ซ่อนเพื่อหาอาหารในเวลากลางคืนเป็นส่วนใหญ่ ผู้เลี้ยงอาจจะใส่วัสดุหลบซ่อนตัวไว้คนละมุมตู้ โดยในธรรมชาติ อาณาเขตการหาอาหารของกุ้งเครย์ฟิชแต่ละตัว จะครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3 เท่าของความยาวช่วงตัว ก็คือประมาณ 12 - 15 นิ้ว สำหรับกุ้งตัวโตเต็มวัย แต่หากเลี้ยงรวมกันตั้งแต่เล็ก และให้กินอาหารร่วมกัน โดยที่อาหารมีพอให้กุ้งเครย์ฟิชอิ่ม ก็จะลดปัญหากุ้งทะเลาะกันได้ ทั้งนี้กุ้งต้องไม่เยอะจนเกินไป จะต้องมีจำนวนเหมาะสมกับพื้นที่ของตู้ดังที่กล่าวข้างต้น
- วัสดุปูรองพื้น
ผู้เลี้ยงสามารถเลี้ยงกุ้งเครย์ฟิชในตู้ที่ปล่อยพื้นตู้โล่งๆ ได้ ก็เป็นความสะดวกอย่างหนึ่ง แต่บางคนก็กลัวว่ากุ้งจะเดินไม่ถนัดนัก เนื่องจากพื้นตู้มีความลื่น หรือว่าต้องการความสวยงาม ก็อาจจะใช้กรวดปูพื้นตู้และตกแต่งด้วยต้นไม้น้ำทั้งจริงและปลอมมากมาย แต่กุ้งเครย์ฟิชมักมีนิสัยชอบขุดคุ้ยพื้นกรวดและหินต่างๆ เพื่อหาอาหาร หรือสร้างเป็นรังหลบซ่อนในเวลากลางวัน ในที่สุด ตู้ที่จัดเรียงไว้สวยงามก็จะกลายเป็นศิลปะจากกุ้งตัวน้อยในที่สุด
สำหรับผู้เลี้ยงที่รักจะใส่กรวดใส่หินเพื่อความสวยงาม ขอแนะนำว่าควรปูพื้นให้หนาประมาณ 5 เซนติเมตรขึ้นไป เพื่อให้มีความหนาพอสมควรที่กุ้งเครย์ฟิชจะได้ขุดกลบตัวได้ หรืออาจใช้หินขนาดใหญ่วางซ้อนๆ เป็นโพรงก็ดูสวยงามเช่นกัน แต่ควรจะจัดวางให้มีความมั่นคง ป้องกันการพังทลายที่เกิดจากการทรุดตัวของกรวด หรือเดินชนโดยเจ้ากุ้งน้อย บางคราวอาจใช้วิธีการใส่ท่อพีวีซีลงไปตามจำนวนกุ้งที่เลี้ยง เพื่อให้กุ้งได้หลบซ่อนบ้าง ก็ตามอัธยาศัย
- ระบบให้อากาศและระบบกรองน้ำ
ในความเป็นจริงผู้เลี้ยงไม่จำเป็นที่จะต้องติดตั้งปั้มออกซิเจนในตู้เลี้ยง ก็ได้ แต่ระบบให้อากาศที่ดีก็มักจะส่งผลต่อสุขภาพที่ดีของกุ้งในระยะยาว เหมือนคนที่ได้สูดอากาศดีดีเต็มปอดทุกๆ วัน ดังนั้นหากสะดวกที่จะติดตั้งระบบอากาศหรือเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำได้ก็ เป็นการดี ส่วนระบบกรองน้ำผู้เลี้ยงอาจใช้ระบบกรองราคาไม่จำเป็นต้องแพงนักและติดตั้ง ง่าย สะดวก อาทิ เครื่องกรองด้านบน เครื่องกรองแบบแขวน หรืออาจใช้กรองแบบฟองน้ำที่เป็นท่อนสีเทา-สีดำก็เพียงพอ แต่ก็ระวังกุ้งจะหนีบฟองน้ำกระจายก่อนก็แล้วกันนะครับ ส่วนระบบกรองแบบกรองใต้ตู้นั้นไม่เหมาะสม เนื่องจากกุ้งเครย์ฟิชมักจะขุดกรวดหิน ทำให้ระบบกรองไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ กรองได้ซักพัก กุ้งน้อยของเราก็ขุดซะฟุ้งกระจาย แล้วอย่างนี้ จะกรองเพื่อ...?
- น้ำ
ผู้เลี้ยงควรจะเปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อยๆ แต่ทีละน้อยๆ เพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงอุณภูมิฉับพลัน และป้องกันความต่างของค่า ph ในน้ำที่ต่างกันมากเกินไป เพราะว่ากุ้งเครย์ฟิชของเราจะปรับตัวไม่ทัน ส่วนน้ำที่ใช้ควรจะสะอาดและปราศจากคลอรีน เท่านี้.. ก็สบายเนื้อสบายตัว สบายเปลือกกันล่ะครับ
|||
ดูรูปภาพ คลิกที่นี่ |||
* อาหารของกุ้งเครย์ฟิช
กุ้งเครย์ฟิช กินอะไร
กุ้งเครย์ฟิช ถือเป็นสัตว์ที่สามารถกินอาหารเกือบทุกอย่าง (Omnivore) แต่ในธรรมชาติมันจะถือว่าเป้นสัตว์กินซากครับ คือผัก ผลไม้ รากไม้ ใบไม้ และเศษหรือซากพืชซากสัตว์ต่างๆ เป็นหลัก มันไม่ใช้่นักล่า ที่จะคอยจ้องจับปลาหรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เป็นอาหาร
บางคนอาจสงสัยว่า หากกุ้งเครย์ฟิชเป็นสัตว์กินซาก อย่างนั้นแสดงว่ามันจะต้องสกปรก ตัวเต็มไปด้วยเชื้อโรค จะต้องหากินอยู่ในน้ำเน่าๆ ที่มีซากพืชซากสัตว์มากมายอย่างนั้นหรือ คำตอบคือผิดอย่างมากครับ กุ้งเครย์ฟิช อยู่น้ำเน่าไม่ได้ครับ ตายอย่างเดียว ผมเคยเห็นกระทู้จากเว็บบอร์ดบางแห่ง และจากเมลฟอเวิร์ด ว่ากุ้งเครย์ฟิชนี้ไม่สามารถทานได้ เพราะตัวมีแต่เชื้อโรค!! โถๆๆ .. น่าสงสารน้องกุ้งเสียจริงครับ ความจริงแล้ว ต่างประเทศเค้ากินน้องกุ้งของเราเป็นกุ้งกุลาร้องไห้นี่แหละครับ แล้วใครหนอ มาบอกว่ากุ้งนี้ กินไม่ได้ แต่อย่างเราๆ ความตั้งใจคือเลี้ยงให้สวยงาม ก็ให้อาหารดีๆ กับเค้า เค้าก็กินหมดครับ แถมสียังสวยอวดโฉมให้เราเห็นอีกต่างหาก ให้เราสบายตาสบายใจ เป็นผลตอบแทนที่ให้อาหารดีดีครับ แต่ถ้าใครอยากทานน้องกุ้งเครย์ฟิช โครงการหลวงเค้าก็มีขายครับ ราคาก็อยู่ที่ประมาณ 1,xxx สำหรับน้องกุ้งเครย์ 1 กิโลกรัม
เอ.. ว่าแต่.. จะซื้อมากิน หรือซื้อมาเลี้ยงดีครับ
ในที่เลี้ยงนั้น ผู้เลี้ยงสามารถให้ ข้าวโพด มันฝรั่ง ถั่วลันเตา ฟักทอง แอปเปิ้ลได้ พรรณไม้น้ำที่ใช้ตกแต่งตู้อาจโดนรื้อเป็นของว่าง ผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศแนะนำให้ผู้เลี้ยงให้"ใบโอ๊ค" (ใบหูกวาง) ตามโอกาส เพราะเชื่อว่าใบโอ๊คสามารถป้องกันรักษาโรคตามธรรมชาติของกุ้งเครย์ฟิชได้ และนอกจากธัญญาหารที่ได้กล่าวไป ก็อาจให้สิ่งมีชีวิตน้อยๆ อย่างเช่น ไรแดง หนอนแดง ไส้เดือนแดง เป็นอาหารก็ได้ครับ แต่ระวังเรื่องความสะอาดด้วยก็แล้วกัน
อ้าว.. เมื่อสักครู่บอกว่าไม่จับสิ่งมีชีวิตกินเป็นอาหาร แล้วทำไมมาจับไรแดงดิ้นดุ๊กดิ๊กกินกันล่ะ? คำตอบคือ "หิว" ไงครับ แล้วมันก็รู้ว่า นี่คือสิ่งที่เรียกว่าอาหาร สำหรับคนที่สงสัยว่า แล้วมันจะหนีบปลาหรือสัตว์น้ำอย่างอื่นในตู้เราไหม ให้ไปดูบทความเรื่อง การเลี้ยงรวมเพื่อไขข้อข้องใจครับ
นอกจากอาหารประเภทผักหรือไรแดงตัวน้อยๆ แล้ว อาจจะให้อาหารประเภทเนื้อสัตว์ร่วมด้วยเช่น เนื้อ ไก่ เนื้อหมู เนื้อปลา เนื้อกุ้งทะเลหรือกุ้งฝอยหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แต่ถ้าจะให้ดี ก็ควรปรุงให้สุกซักหน่อยนะครับ เพื่อกันเชื้อโรคต่างๆ ถ้าให้สะดวกขึ้นก็เป็นอาหารเม็ดสำเร็จรูปชนิดจมสูตรต่างๆ
สรุปได้ว่า ไม่ว่าจะให้อาหารประเภทไหนก็กินได้ทั้งนั้น สำหรับความถี่ในการให้อาหารไม่ต้องบ่อยนัก ให้น้อยๆ แต่กินหมด ดีกว่าให้เยอะแล้วเศษอาหารตกค้าง ทำให้น้ำเน่าเสีย
ในกรณีคุณภาพน้ำเริ่มลดลง น้ำเริ่มเน่าเสียเนื่องจากเศษอาหารตกค้าง กุ้งเครย์ฟิชก็จะเริ่มแสดงอาการของโรคเปลือกขาว เหมือนกับกุ้งทั่วๆ ไป คือจะเริ่มมีคราบขาวๆ ก่อตัว และกระจายไปจนทั่ว ในที่สุดอาจตายได้ เพราะฉะนั้นควรรักษาคุณภาพน้ำให้สะอาดอยู่เสมอด้วยนะครับ
|||
ดูรูปภาพ คลิกที่นี่ |||
* การดูเพศกุ้งเครย์ฟิช
การดูเพศ
วิธีที่แน่นอนที่สุดคือดูอวัยวะเพศที่ด้านหน้าท้อง โดยจับกุ้งหงายท้องแล้วสังเกตอวัยวะสืบพันธุ์ที่ช่วงขาเดินครับ
สำหรับกุ้งสาย P และสาย C นั้น จะมีจุดที่ต่างกันเล็กน้อย ดังนี้
"สาย P"
ตัวผู้ จะมีท่อเล็กๆ ยื่นออกมา บริเวณโคนขาคู่สุดท้าย
ตัวเมีย จะมีรูเล็กๆ ที่บริเวณโคนขาคู่ที่สาม (นับจากขาคู่สุดท้าย)
"สาย C"
ตัวผู้ จะมีตุ่มเล็กๆยื่นออกมา จากโคนขาคู่สุดท้าย
ตัวเมียจะมีรูเล็กๆ ที่บริเวณโคนขาคู่ที่สาม (นับจากขาคู่สุดท้าย)
|||
ดูรูปภาพ คลิกที่นี่ |||
* การเพาะพันธุ์ กุ้งเครย์ฟิช
มาคุยกันถึงเรื่องการผสมพันธุ์ สำหรับกุ้งเครย์ฟิชนั้นสามารถทำการผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปีครับ ผู้เลี้ยงสามารถขยายพันธุ์กุ้งเครย์ฟิชในตู้เลี้ยงได้ง่ายๆ ไม่ต้องมีเทคนิคพิเศษอะไรมากมาย เหมือนกับการเพาะพันธุ์ปลาหางนกยูงนั่นแหละครับ เพียงแค่ปล่อยตัวผู้และตัวเมียที่ถึงวัยเจริญพันธุ์ให้อยู่ด้วยกัน โดยเลือกตัวที่แข็งแรง อายุประมาณ 6-7 เดือนขึ้นไป ก็สามารถเป็นพ่อแม่พันธุ์ที่ดีได้ แต่ต้องดูเนื้อที่ด้วยนะครับ ว่ากว้างขวางพอสำหรับกุ้งหรือไม่ มิเช่นนั้นจากการที่จะหนีบเพื่อผสมพันธุ์ อาจกลายเป็นหนีบเพื่อแย่งที่อยู่ แบ่งถิ่น แบ่งดินแดนกันก็ได้ครับ
การผสมพันธุ์ของกุ้งเคร์ฟิชก้ามใหญ่นั้น เริ่มโดยการที่ตัวผู้จะเข้าประกบตัวเมีย บางตัวอาจเข้าทางด้านหลังแบบตีท้ายครัว หรือบางทีอาจเข้าซึ่งๆ หน้า อันนี้ก็แล้วแต่กุ้งหนุ่มน้อย ว่าจะมีเทคนิคแพรวพราวอะไรมามัดใจสาวครับ จากนั้นเจ้าหนุ่มน้อยก็จะจัดการพลิกลำตัวแฟนสาวให้หงายท้อง จากนั้นก็จะเข้าประกบไว้ในลักษณะท้องชนท้อง หันหัวไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อส่งผ่านถุงน้ำเชื้อไปฝากไว้กับตัวเมีย กระบวนการที่กุ้งทั้งสองตัวนอนกอดกันแน่นนี้จะยาวนานหลายนาที ตั้งแต่ 2-10 นาที โดยประมาณ (กุ้งเครย์ฟิชสาย P จะยาวนานกว่า 10 นาที ในขณะที่สาย C จะกินเวลาสั้นกว่า เพียงแค่ 1-2 นาทีเท่านั้น) หลังจากนั้นภารกิจของตัวหนุ่มน้อยหัวใจซาบซ่าก็สิ้นสุดลงอย่างสมอารมณ์หมาย ผู้เลี้ยงสามารถย้ายกุ้งตัวเมียไปยังตู้อนุบาลเลยก็ได้ เพื่อเป็นการเตรียมที่อยู่สำหรับลูกกุ้งในอนาคต หลังจากนั้นตัวเมียจะผลิตไข่ไว้บริเวณขาว่ายน้ำ
หลังจากนั้นอีกไม่นาน เนื้อเยื่อบางๆ ที่หุ้มถุงน้ำเชื้อที่กุ้งตัวผู้ได้นำมาฝากไว้ก็จะสลายลงปล่อยสเปิร์มเพื่อให้ ไข่ได้รับการปฏิสนธิ และหลังจากที่ไข่ได้รับการปฏิสนธิแล้ว ตัวเมียจะหาที่หลบซ่อนนอนนิ่งไม่ยอมกินอะไร ระยะเวลาที่ตัวอ่อนใช้ในการพัฒนารูปร่างนั้นจะขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ปริมาณอาหาร และคุณภาพน้ำ แต่โดยเฉลี่ยไข่จะพัฒนาจนเป็นตัวอ่อนที่มีหน้าตาเหมือนโตเต็มวัยภายใน 3-4 สัปดาห์ หลังจากนั้นลูกกุ้งจะถูกปล่อยให้ว่ายน้ำเป็นอิสระ
ในการผสมพันธุ์ในแต่ละครั้งแม่กุ้งสามารถให้ลูกได้ตั้งแต่ 50 - 400 ตัวเลยทีเดียว ซึ่งพ่อแม่กุ้งนั้นค่อนข้างเป็นพ่อแม่ที่ดีโดยจะไม่มีพฤติกรรมกินลูกกุ้ง เป็นอาหาร แล้วตัวลูกกุ้งเองก็มักจะอาศัยไม่ไกลจากพ่อแม่ของมันนัก เพื่อที่จะคอยเก็บกินเศษอาหารที่เหลือจากพ่อแม่นั่นเอง
* การอนุบาลตัวอ่อน
- อาหาร
ตัว อ่อนของกุ้งเครย์ฟิชจะมีขนาดประมาณ 2-3 มิลลิเมตรโดยจะกินเศษอาหารเป็นหลัก ผู้เลี้ยงสามารถให้อาหารเสริมเช่น ไส้เดือนฝอย ไรทะเล หรืออาหารประเภทเนื้อสัตว์อย่างอื่น อาทิ เนื้อปลา เนื้อกุ้งฝอยสับละเอียด แต่ควรระวังอย่าให้อาหารเหลือ เพราะน้ำจะเน่าเสียได้ แต่อย่างไรก็ตามผู้เลี้ยงควรจะให้อาหารอย่างเพียงพอเพราะตัวอ่อนจะมี พฤติกรรมกินกันเอง เนื่องจากมีจำนวนมาก และกุ้งตัวเล็กนี้ก็ลอกคราบบ่อยซะด้วย
- ที่อยู่
ผู้เลี้ยงควรเปลี่ยนใหม่ทุกวัน วันละประมาณ 20-30% และตู้อนุบาลลูกกุ้งควรมีพื้นที่และวัสดุหลบซ่อน เช่นเดียวกับการเลี้ยงดูตัวเต็มวัย โดยใส่รากไม้ ขอนไม้ กระถางต้นไม้ หรือท่อพีวีซี ลงไปเยอะๆ เพื่อเป็นที่หลบซ่อน เนื่องจากในช่วงเดือนแรกของชีวิตลูกกุ้ง จะทำการลอกคราบบ่อยมาก ทุกครั้งที่ลอกคราบและลำตัวอ่อนนิ่ม ก็จะมีโอกาสถูกลูกกุ้งตัวอื่นๆ กินเป็นอาหาร
เมื่อลูกกุ้งมีอายุได้ประมาณ 30 วัน จะเริ่มแสดงสีสันของตนเอง แต่อย่างไรก็ตาม สีอาจมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อมีการเติบโตไปตามวัย ความอ่อนความเข้มของสียังเอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ ถ้าเี้ลี้ยงดี อาหารดี สีสันก็สดใสขึ้นไปอีกได้ครับ
|||
ดูรูปภาพ คลิกที่นี่ |||
* การลอกคราบ
การลอกคราบนั้นถือเป็นขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการสำคัญในการเจริญเติบโตของกุ้ง เครย์ฟิชเลยทีเดียวครับ การลอกคราบนั้นแสดงถึงขนาดลำตัวที่โตขึ้น ลูกกุ้งเล็กๆ อาจลอกคราบได้บ่อยถึงสัปดาห์ละ 1 ครั้งเลยทีเดียว โดยระยะห่างในการลอกคราบแต่ละครั้งจะค่อยๆ ยาวนานกว่าเดิมเมื่อกุ้งเติบโตขึ้น ยิ่งโตขึ้นความถี่ในการลอกคราบก็ยิ่งน้อยลง โดยกุ้งเครย์ฟิชที่โตเต็มที่นั้นอาจลอกคราบเพียงปีละครั้งเท่านั้น
- การสังเกตุกุ้งที่จะลอกคราบ
ผู้เลี้ยงสามารถสังเกตได้ว่าช่วงที่กุ้งเครย์ฟิชจะลอกคราบ เค้าจะกินอาหารน้อยลง สีสันของลำตัวเริ่มทึบ หรือสีเข้มขึ้นนั่นแหละครับ และกุ้งเครย์ฟิชนั้นก็จะหาที่ปลอดภัยสำหรับหลบซ่อน เพราะว่าช่วงลอกคราบนั้นกุ้งเครย์ฟิชจะมีลำตัวที่อ่อนนิ่ม และอ่อนแอมาก เมื่อได้ที่เหมาะสมแล้วเจ้ากุ้งเครย์ฟิชก็จะค่อนข้างอยู่นิ่งๆ รอเมื่อถึงนาทีก่อนที่จะลอกคราบ บางตัวเมื่อจะถึงนาทีที่จะสลัดเปลือกเก่าออกนั้น ก็อาจหาอะไรกิน กินทุกอย่างที่ขวางหน้าเสมือนกับตุนเสบียงเอาไว้นั่นเอง
- อวัยวะที่หายไป จะกลับมาดังเดิม
ไม่ว่าจะเป็นก้าม ขาเดิน หรือขาสำหรับว่ายน้ำที่หลุดหักไปจากการต่อสู้ การขนย้าย หรือการสลัดทิ้งครั้งก่อน กุ้งเครย์ฟิชสามารถซ่อมแซมโดยการสร้างขึ้นมาใหม่เองได้ โดยผ่านกระบวนการลอกคราบ ในกรณีที่เป็นอวัยวะชิ้นใหญ่อย่างก้าม อาจจะต้องใช้เวลาลอกคราบถึง 2-3 ครั้ง ถึงจะสามารถสร้างก้ามใหม่ ที่มีสภาพสมบูรณ์และขนาดเท่าเดิมได้ ส่วนอวัยวะเล็กๆ น้อยๆ อย่างหนวด หรือขาเดินนั้น การลอกคราบเพียงครั้งเดียวก็สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้เหมือนเดิม ทั้งนี้ กุ้งสามารถสร้างขึ้นใหม่ได้หมด ยกเว้นดวงตา
เมื่อผู้เลี้ยง สังเกตเห็นว่ากุ้งเครย์ฟิชกำลังลอกคราบ ไม่ควรทำการรบกวน เพราะว่าอาจเป็นการทำลายความต่อเนื่องของกระบวนการลอกคราบ ซึ่งเมื่อกุ้งเครย์ฟิชตกใจจะทำให้กระบวนการลอกคราบไม่สมบูรณ์เต็มที่ โดยชิ้นส่วนของเปลือกชุดเก่ามักจะยังติดอยู่ในขณะที่เปลือกชุดใหม่ก็เริ่ม แข็งตัว อาจทำให้เกิดความผิดปกติ เช่น เปลือกสองชั้นนั้นซ้อนทับกันอยู่ จึงอาจจะทำให้ก้ามชุดใหม่มีการขึ้นผิดรูป บางทีอาจถึงขั้นเสียชีวิต แต่หากพลั้งเผลอไปแต่น้องกุ้งยังมีชีวิตอยู่ ก็ไม่ต้องตกใจฟูมฟาย รอลอกคราบครั้งต่อๆ ไปก็แล้วกัน หวังว่าคงกลับมาดีดังเดิมในไม่ช้าครับ
|||
ดูรูปภาพ คลิกที่นี่ |||
* การเลี้ยงรวม
การเลี้ยงรวมกับกุ้งเครย์ฟิชชนิดอื่นๆ
ผู้เลี้ยงไม่ควรเลี้ยงกุ้งเครย์ฟิชที่มีถิ่นกำเนิดต่างกันไว้ด้วยกัน (เช่น ไม่ควรเลี้ยงสาย "C" และ "P" รวมกัน) เนื่องจากอุปนิสัยต่างกัน อาจทะเลาะกันได้ และทั้ง 2 สาย ก็มีความแข็งแรงและพละกำลังที่แตกต่างกันอีกด้วยครับ
หากต้องการเลี้ยงกุ้งเครย์ฟิชจำนวนหลายตัว ควรให้เป็นกุ้งเครย์ฟิชสายเดียวกัน (แหล่งกำเนิดเดียวกัน) เพื่อกุ้งเครย์ฟิชอาจผสมพันธุ์และมีลูกกุ้งที่มีสีสันสวยๆ ให้ได้ชื่นชม นอกจากนี้ควรจะเลี้ยงกุ้งเครย์ฟิชที่มีขนาดเท่าๆ กัน หรือใกล้เคียงกัน เพราะกุ้งเครย์ฟิชตัวที่ใหญ่กว่า อาจทำร้ายตัวที่เล็กกว่าได้ ถ้าไปเจ๊าะแจ๊ะตอนที่อารมณ์ไม่ดี
การเลี้ยงรวมกับปลาสวยงาม
ถึงแม้ว่าในธรรมชาตินั้น กุ้งเครย์ฟิชจะเก็บเศษซากพืชซากสัตว์กินเป็นอาหารหลัก แต่ในที่เลี้ยงสถานที่ที่มีอาหารอย่างจำกัดนั้น มันอาจจับสิ่งมีชีวิตอื่นกินเป็นอาหาร ถ้ามันหิวและมีโอกาส ดังนั้นผู้เลี้ยงจึงไม่ควรเลี้ยงกุ้งเครย์ฟิชรวมกับปลาสวยงามที่อาศัยอยู่ บริเวณก้นตู้ หรือปลาสวยงามที่ตัวใหญ่ ว่ายน้ำช้า เพราะปลาเหล่านั้นอาจเป็นอาหารกุ้งได้ แต่หากผู้เลี้ยงมีอาหารให้กุ้งเครย์ฟิชอย่างเพียงพอตลอดเวลา ก็สามารถตัดปัญหาตรงนี้ออกไปได้
ผู้เลี้ยงสามารถเลี้ยงกุ้งเครย์ฟิชรวมกับปลาสวยงามขนาดกลาง ที่ว่ายน้ำบริเวณกลางน้ำหรือผิวน้ำได้ แต่ต้องเป็นปลาที่มีนิสัยไม่ดุร้าย ไม่เช่นนั้นอาจพบว่ากุ้งเครย์ฟิชที่สามารถจับกินปลาตัวเล็กๆ ถูกปลารุมกินก็เป็นได้ รวมถึงปลาหางนกยูงตัวน้อยๆ ถ้ามีจำนวนมากเกินไป อาจตอดกุ้งเครย์ฟิชตัวใหญ่ที่เพิ่งลอกคราบจนเสียชีวิต ถึงจะตัวใหญ่ แต่ถ้าร่างกายอ่อนแอแล้วแถมโดนรุม ก็ไม่อาจทนทานได้ไหว
กุ้งเครย์ฟิชจะอาศัยแต่บริเวณก้นตู้ และไม่สามารถว่ายน้ำขึ้นไปกินปลาสวยงามบริเวณกลางน้ำหรือผิวน้ำได้ นอกจากนี้กุ้งเครย์ฟิชยังอาจทำหน้าที่เป็นพนักงานเก็บเศษอาหารก้นตู้ได้เป็น อย่างดี สรุปว่า เลี้ยงรวมกับปลาตัวเล็ก ว่ายน้ำเร็ว หรือปลาบริเวณกลางน้ำหรือผิวน้ำได้ แต่ต้องไม่มีจำนวนมากเกินไป ไม่ว่าจะกุ้ง หรือว่าปลา เท่านี้ก็อยู่กันอย่างสันติ มีความสุข ทั้งกุ้ง ทั้งปลา และคนเลี้ยงครับ
|||
ดูรูปภาพ คลิกที่นี่ |||
* การเืลือกซื้อกุ้งเครย์ฟิช
วิธีการเลือกซื้อ Crayfish
1. ควรมีดวงตาครบทั้ง 2 ข้าง เพราะไม่สามารถงอกใหม่ได้
2. ควรมีก้าม 2 ข้าง และขาเดินครบทั้ง 5 คู่ เพราะการที่มีอวัยวะไม่ครบ แสดงถึงความสามารถในการหาอาหารและป้องกันตัวเองที่ลดน้อยลง อาจจะทำให้กุ้งเครย์ฟิชอ่อนแอ และถูกกุ้งเครย์ฟิชตัวอื่นทำร้ายได้ง่าย
3. กุ้งเครย์ฟิชควรจะมีเปลือกลำตัวที่แข็ง ไม่อยู่ในช่วงระยะลอกคราบ ซึ่งร่างกายจะค่อนข้างอ่อนแอ
4. กุ้งเครย์ฟิชที่แข็งแรงควรมีการแสดงปฏิกิริยาป้องกันตัวเมื่อถูกรบกวน เช่น การยกก้ามคู่ป้องกันตัวเอง หลบหนีด้วยการดีดลำตัวอย่างว่องไวหรือ พยายามปีนป่าย
|||
ดูรูปภาพ คลิกที่นี่ |||
* การจับตัวกุ้งเครย์ฟิชอย่างถูกวิธี
เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้จับโดนหนีบ และป้องกันไม่ให้กุ้งขาและก้ามหัก ให้จับกุ้งเครย์ฟิชตามรูปต่อไปนี้ ถือว่าเป็นวิธีที่ถูกต้อง
คำเตือน!! สงวนลิขสิทธิ์
รูปภาพและบทความโดย.. โทมี่ ฟาร์ม (Tomy Farm)
©
ดูรายละเอียดที่
www.tomyfarm.com
ห้ามคัดลอกไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอณุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร
หากต้องการให้ผู้อื่นอ่านหรือชม สามารถทำการเชื่อมโยงลิงค์มาที่หน้าเว็บเพจนี้ได้
เว็บไซต์แนะนำ คลิกเลย :
แฟชั่น | รับสมัครนายแบบ | แฟชั่นอินเทรนด์ | แฟชั่นผู้ชาย | แฟชั่นผู้หญิง | นายแบบ | นางแบบ | เคล็ดลับความงาม | ซื้อขายสุนัข | ขายหมา | ซื้อหมา | ซื้อขายหมา | ตลาดนัดหมา | ตลาดนัดสุนัข | ลงประกาศขายหมา | ลงประกาศขายสุนัข | เว็บขายหมา | ขายสุนัข | ตั้งกระทู้ฟรี | ลงประกาศฟรี | โปรโมทเว็บฟรี | SEO | ลงโฆษณาออนไลน์
|